ยินดีต้อนรับเข้าสู่ สำนักงานเทศบาลตำบลเชียงดาว ติดต่อสอบถาม โทรศัพท์ 053-455-079 โทรสาร 053-456024 อีเมล info@cdlocal.go.th , saraban@cdlocal.go.th

สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน

ด้านกายภาพ

1.1 ที่ตั้ง ชุมชนเทศบาลตำบลเชียงดาว อยู่ห่างจากศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ไปทางทิศเหนือ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (เชียงใหม่ – ฝาง) เป็นระยะทางประมาณ 72 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 3.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,187.5 ไร่ มีเขตพื้นที่ติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับหมู่บ้านดอนศรีสะอาด หมู่ที่ 15 องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงดาว
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับหมู่บ้านดง หมู่ที่ 7 องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงดาว
  • ทิศใต้ ติดต่อกับหมู่ที่ 8 องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงดาว
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงดาว

1.2 ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่เทศบาลตำบลเชียงดาว มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบระหว่างภูเขา ลาดเอียง จากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกหรือสภาพพื้นที่ค่อย ๆ ลาดเอียงลงสู่แม่น้ำปิง
1.3 ลักษณะภูมิอากาศ สภาวะอากาศโดยทั่วไปของเทศบาลตำบลเชียงดาว มีลักษณะคล้ายคลึงกับสภาวะอากาศโดยทั่วไปของจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวคือ แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ เดือนมีนาคม ถึง กลางเดือนพฤษภาคม อากาศจะร้อนสูงสุดในช่วยเดือนเมษายน ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม ฝนจะตกชุกช่วงเดือน สิงหาคม – กันยายน  และฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ อากาศจะหนาวมากในช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 28 องศาเซลเซียส
1.4 ลักษณะของดิน เนื้อดินชั้นบนเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนดินชั้นล่างเป็นดินร่วนเหนียวและกรวด
1.5 ลักษณะของแหล่งน้ำ ภายในตัวชุมชนมีทางน้ำธรรมชาติไหลผ่านหลายสายที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำปิง ห้วยแม่ก๊ะ ห้วยแม่อีด ห้วยแม่กึ๊ด ห้วยแม่ลุ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอเชียงดาว ซึ่งทางน้ำธรรมชาติเหล่านี้ ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในการอุปโภคและเพื่อการเกษตรกรรม
1.6 ลักษณะของไม้และป่าไม้ พื้นที่ของเทศบาลตำบลเชียงดาวเป็นพื้นที่ชุมชนไม่มีเขตพื้นที่ป่าไม้


ด้านการเมือง/การปกครอง

2.1 เขตการปกครอง เทศบาลตำบลเชียงดาว อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่  ประกอบด้วย 5 ชุมชน ดังนี้
2.1.1 ชุมชนบ้านวังจ๊อม  หมู่ที่ 4 ตำบลเชียงดาว
2.2.2 ชุมชนบ้านเชียงดาว หมู่ที่ 6 ตำบลเชียงดาว
2.2.3 ชุมชนบ้านเชียงดาว หมู่ที่ 7 ตำบลเชียงดาว
2.2.4 ชุมชนบ้านแม่ก๊ะ หมู่ที่ 8 ตำบลเชียงดาว
2.2.5 ชุมชนบ้านทุ่งดินแดง หมู่ที่ 13 ตำบลเชียงดาว

2.2 การเลือกตั้ง เทศบาลตำบลเชียงดาว แบ่งเขตเลือกตั้ง เป็น 2 เขต ได้แก่
2.2.1 เขตที่ 1 ประกอบด้วย ชุมชน หมู่ที่ 6 และ หมู่ที่ 8  มีสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน 6 คน
2.2.2 เขตที่ 2 ประกอบด้วย ชุมชน  หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 7 และ หมู่ที่ 13 มีสมาชิกสภาเทศบาลจำนวน 6 คน


ประชากร

3.1 ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากร ส่วนใหญ่ร้อยละ 98 เป็นเชื้อชาติไทย ที่เหลือประมาณร้อยละ 2 เป็นชาวไทยภูเขาที่ย้ายถิ่น เช่น ลีซู และปกากะญอ นอกจากนั้นยังมีประชากรแฝงจากการเข้ามาเป็นแรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่ จากข้อมูลสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลเชียงดาว ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565  มีประชากรอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเชียงดาวแยกตามชุมชน  ดังนี้

พื้นที่

ชาย(คน)

หญิง(คน)

รวม(คน)

หมู่ที่ 0 เชียงดาว

18

11

29

หมู่ที่ 4 วังจ๊อม

315

397

712

หมู่ที่ 6 เชียงดาว

439

515

954

หมู่ที่ 7 ดง

239

257

496

หมู่ที่ 8 แม่ก๊ะ

450

476

926

หมู่ที่ 13 ทุ่งดินแดง

264

323

587

ยอดรวมทั้งหมด

1,725

1,979

3,704


สภาพทางสังคม

4.1 การศึกษา ในเขตเทศบาลตำบลเชียงดาว มีการให้บริการการศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
สถาบันการศึกษาในเขตเทศบาลตำบลเชียงดาวมี ดังนี้
4.1.1 สถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน  มี 1 แห่ง เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1 แห่ง คือ โรงเรียนศีลรวี 
4.1.2 สถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต 3 เชียงใหม่ มี 2 แห่ง เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1 แห่ง (โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา) คือ โรงเรียนบ้านเชียงดาว และเปิดสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา) 1 แห่ง คือ โรงเรียนชุมชนบ้านวังจ๊อม
4.1.3 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดเทศบาลตำบลเชียงดาว มี 2 คือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเชียงดาว และ โรงเรียนอนุบาลเทศบาลตำบลเชียงดาว
4.1.4 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนามี 1 แห่ง คือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดศรีทรายมูล 
4.1.5 โรงเรียนปริยัติธรรม สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนา มี 1 แห่ง คือ โรงเรียนวัดอินทาราม
4.1.6 สถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยมี 1 แห่ง เปิดสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย คือ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเชียงดาว
นอกจากนี้ประชาชนยังได้รับการอบรมสั่งสอนด้านศีลธรรม จริยธรรมจากวัด และโบสถ์ที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ทั้ง 8 แห่ง โดยเป็นวัด 4 แห่ง ดังนี้ วัดอุตตาราม วัดแม่อีด วัดอินทาราม วัดศรีทรายมูล โบสถ์ 4 แห่ง ดังนี้ คริสตจักรความหวังใหม่ โบสถ์นักบุญไมเคิลกาลีกอย คริสตจักรเชียงดาว คริสเตียนเชียงดาว
4.2 ด้านสาธารณสุข ในเขตเทศบาลมีสถานพยาบาลเอกชน เป็นคลินิกเปิดบริการเฉพาะในช่วงเย็น วันจันทร์ – ศุกร์ 1 แห่ง เปิดบริการเฉพาะวันเสาร์/วันอาทิตย์ 1 แห่ง และเปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น อีก 1 แห่ง รวม 3 แห่ง นอกจากนี้ยังมีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเชียงดาวตั้งอยู่ในพื้นที่ และโรงพยาบาลเชียงดาวตั้งอยู่ห่างจากเขตพื้นที่เทศบาลไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร
4.3 อาชญากรรม ในพื้นที่หน่วยงานที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรเชียงดาว อาชญากรรมส่วนใหญ่ในพื้นที่ เป็นคดีลักทรัพย์ รองลงมาคือคดีทำร้ายร่างกาย ส่วนคดีอุกฉกรรจ์ไม่ค่อยปรากฏในพื้นที่
4.4. ยาเสพติด สถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ปัจจุบัน ถือเป็นพื้นที่ลำเลียงและเป็นทางผ่านยาเสพติดจากพื้นที่ชายแดนของอำเภอเชียงดาว
4.5 การสังคมสงเคราะห์ มีหอพักในคริสต์ศาสนาที่ให้การสงเคราะห์เด็กนักเรียนได้พักอาศัยขณะศึกษาในพื้นที่เทศบาลตำบลเชียงดาว จำนวน 3 แห่ง


ระบบบริการพื้นฐาน

5.1 การคมนาคม
เทศบาลตำบลเชียงดาว เป็นศูนย์กลางการคมนาคมของอำเภอเชียงดาว มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) เป็นเส้นทางหลักในการติดต่อคมนาคมทางบก นอกจากนี้ยังมีถนนตามซอยต่าง ๆ อีก 33 ซอย เชื่อมต่อจากทางหลวงหมายเลข 107
5.2 การไฟฟ้า ทุกหลังคาเรือนในเขตเทศบาล ได้รับบริการไฟฟ้าแสงสว่างจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอเชียงดาว นอกจากนี้ถนนตามซอยต่างๆ เทศบาลยังได้จัดบริการติดตั้งโคมไฟกิ่งสาธารณะให้ทุกซอกซอย
5.3 การประปา มีครัวเรือนที่เข้าถึงระบบประปาส่วนภูมิภาค ประมาณ 1,000 ครัวเรือน คิดเป็น ร้อยละ 70 ของครัวเรือนทั้งหมดในเขตเทศบาล แต่ก็มีบางพื้นที่ที่ประปายังให้บริการไม่ทั่วถึง จะใช้วิธีการขุดบ่อน้ำตื้นและบ่อบาดาลใช้เอง
5.4 การโทรศัพท์ มีโทรศัพท์สาธารณะในเขตเทศบาลทั้งหมด 57 หมายเลข
5.5 ไปรษณีย์ มีที่ทำการไปรษณีย์อำเภอ ตั้งอยู่ในพื้นที่เทศบาล 1 แห่ง


ระบบเศรษฐกิจ

6.1 การเกษตร ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม จำนวน 122 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรจำนวนประมาณ 540 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 25 ของพื้นที่ทั้งหมด เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าว รองลงมาคือ ปลูกข้าวโพดหวาน และพริกตามลำดับ สำหรับน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตรนั้น เกษตรกรใช้น้ำจากแม่น้ำปิงเป็นหลัก รองลงมาคือ ลำห้วยสาขาของแม่น้ำปิง

6.2 การให้บริการ ธุรกิจการให้บริการในเขตเทศบาลตำบลเชียงดาว ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจบ้านเช่า ธุรกิจร้านตัดผม ซ่อมเครื่องไฟฟ้า ถ่ายเอกสารฯ จัดส่งน้ำดื่ม ซ่อมคอมพิวเตอร์ และร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ ฯลฯ
6.3 อุตสาหกรรม ในพื้นที่เทศบาลตำบลเชียงดาว มีโรงงานอุตสาหกรรมโรงงานย้อมผ้า จำนวน 1 แห่ง นอกเหนือจากนั้นเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น การผลิตเส้นขนมจีน การผลิตลูกชิ้น
6.4 การพาณิชย์และกลุ่มอาชีพ พื้นที่เทศบาลตำบลเชียงดาวเป็นย่านการค้าที่สำคัญของอำเภอเชียงดาว โดยลักษณะการค้าและบริการจะเป็นการจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น มีตลาดสดจำนวน 3 แห่ง โดยจำแนกเป็นของเทศบาล จำนวน 1 แห่ง ตลาดสดของเอกชน จำนวน 2 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ตลาดนัด จำนวน 2 แห่ง คือ ตลาดนัดแสงจันทร์ จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคทุกวันอังคาร ตลาดนัดฟ้าเพียงดาว จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคทุกวันพฤหัสบดี และตลาดนัดถนนคนเดินเชียงดาว จำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค ทุกวันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 1 และ ที่ 3 ของเดือน ธนาคารพาณิชย์ในพื้นที่ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรฯสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่  มีจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ปั้มน้ำมันพีที และปั้มน้ำมันสหกรณ์การเกษตรเชียงดาว
6.5 แรงงาน แรงงานในพื้นที่เทศบาลตำบลเชียงดาว ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคการเกษตร รองลงมาคือแรงงานที่รับจ้างทั่วไป และแรงงานก่อสร้าง โดยเฉพาะในพื้นที่มีแรงงานชาวไทยใหญ่จำนวนมาก ค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่โดยเฉลี่ยวันละ 300 บาท


เศรษฐกิจพอเพียง (ด้านการเกษตรและแหล่งน้ำ)

7.1 ข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้าน เทศบาลตำบลเชียงดาว มี หมู่บ้านในพื้นที่ จำนวน 5 หมู่บ้าน ได้แก่

บ้านวังจ๊อม หมู่ที่ 4 มีพื้นที่ทั้งหมด 540 ไร่
บ้านเชียงดาว หมู่ที่ 6 มีพื้นที่ทั้งหมด 424 ไร่
บ้านเชียงดาว หมู่ที่ 7 มีพื้นที่ทั้งหมด 331 ไร่
บ้านแม่ก๊ะ หมู่ที่ 8 มีพื้นที่ทั้งหมด 458 ไร่
บ้านทุ่งดินแดง หมู่ที่ 13 มีพื้นที่ทั้งหมด 435 ไร่
7.2 ข้อมูลด้านการเกษตร
การปลูกข้าว นอกเขตชลประทาน 95 ครัวเรือน พื้นที่ 484 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 500 กก./ไร่  ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 2,000 บาท/ไร่ ราคาขายโดยเฉลี่ย 5,500 บาท/ไร่
สวนลำไย จำนวน 7 ครัวเรือน พื้นที่ 56 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 900 กก./ไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 8,000 บาท/ไร่ ราคาขายเฉลี่ย 31,500 บาท/ไร่
ทำไร่ข้าวโพด จำนวน  16 ครัวเรือน พื้นที่ 148 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 2,500 กก./ไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 6,000 บาท/ไร่ ราคาขายเฉลี่ย 7,000 บาท/ไร่
ปลูกพริก จำนวน 8 ครัวเรือน พื้นที่ 84 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 500 กก./ไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 10,000 บาท/ไร่ ราคาขายเฉลี่ย 25,000 บาท/ไร่
ปลูกหอม จำนวน 6 ครัวเรือน พื้นที่ 57 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 1,000 กก./ไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 16,000 บาท/ไร่
ปลูกถั่วลิสง จำนวน 2 ครัวเรือน พื้นที่ 16 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 350 กก./ไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,800 บาท/ไร่ ราคาขายโดยเฉลี่ย 6,000 บาท/ไร่
7.3 ข้อมูลแหล่งน้ำทางการเกษตร
แม่น้ำปิง มีความสำคัญอันดับหนึ่ง ซึ่งมีปริมาณเพียงพอตลอดทั้งปี เกษตรกรที่อาศัยแม่น้ำปิงใช้เพื่อการเกษตร ได้แก่ บ้านวังจ๊อม บ้านทุ่งดินแดง บ้านเชียงดาว  และบ้านแม่ก๊ะ
ลำห้วยแม่ลุ มีปริมาณเพียงพอตลอดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว แต่จะขาดแคลนในฤดูร้อน เกษตรกรที่อาศัยลำห้วยแม่ลุทำการเกษตร ได้แก่ บ้านวังจ๊อม
ลำห้วยแม่กึ๊ด มีปริมาณเพียงพอตลอดในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว แต่จะขาดแคลนในฤดูร้อน เกษตรกรที่อาศัยลำห้วยแม่กื้ด ทำการเกษตร ได้แก่ บ้านทุ่งดินแดง
ลำห้วยแม่อีด มีปริมาณเพียงพอตลอดในช่วงฤดูฝน แต่จะขาดแคลนในฤดูหนาวและฤดูร้อน เกษตรกรที่อาศัยลำห้วยอีดทำการเกษตร ได้แก่ บ้านเชียงดาว
ลำห้วยแม่ก๊ะ มีปริมาณเพียงพอตลอดในช่วงฤดูฝน แต่จะขาดแคลนในฤดูหนาวและฤดูร้อน เกษตรกรที่อาศัยลำห้วยแม่ก๊ะทำการเกษตร ได้แก่ บ้านเชียงดาว และบ้านแม่ก๊ะ
7.4 ข้อมูลด้านแหล่งน้ำกิน น้ำใช้
ระบบประปาส่วนภูมิภาค มีครัวเรือนที่เข้าถึงระบบประปาส่วนภูมิภาค ประมาณ 1,000 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 70 ของครัวเรือนทั้งหมด ในเขตเทศบาล


ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม

8.1 การนับถือศาสนา

ศาสนาพุทธ มีประชาชนนับถือคิดเป็นร้อยละ 90 มีวัดในพระพุทธศาสนา จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ วัดอินทาราม วัดอุตตาราม วัดแม่อีด และวัดศรีทรายมูล
ศาสนาคริสต์ มีประชาชนนับถือ คิดเป็นร้อยละ 10 มีโบสถ์ในคริสตศาสนา จำนวน 4 แห่งได้แก่ คริสตจักรความหวังใหม่ โบสถ์นักบุญไมเคิลการิกอยส์ คริสตจักรเชียงดาว คริสเตียนเชียงดาว
8.2 ประเพณีและงานประจำปี
ประเพณีปีใหม่เมือง จัดทุกวันที่ 13 – 15 เมษายน ของทุกปี
ประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อหลวงคำแดง จัดทุกเดือน 9 (เหนือ) ของทุกปี ณ บริเวณ ศาลเจ้าพ่อหลวงคำแดง บ้านเชียงดาว หมู่ที่ 6
ประเพณีบวงสรวงเสาอินทขิลหรือเสาหลักเมืองเชียงดาว จัดทุกเดือน 9 (เหนือ) ของทุกปี ณ วัดอินทาราม
ประเพณีเข้าพรรษา เริ่มขึ้น แรม 1 ค่ำ เดือน 10 (เหนือ) ของทุกปี
ประเพณีสลากภัต โดยเริ่มใน วันเพ็ญ เดือน 12 (เหนือ) ถึงแรม 1 ค่ำ เดือนยี่ (เหนือ)
ประเพณียี่เป็ง จัดทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ (เหนือ) หรือวันเพ็ญเดือนสิบสองของภาคกลาง
8.3 ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาษาถิ่น
สาขาการแพทย์แผนไทย ได้แก่ การนวดแผนโบราณ และการผลิตยาสมุนไพรพื้นบ้าน
สาขาคหกรรม และงานประดิษฐ์ ได้แก่ การทำบายศรี ช่อ ตุง และโคมและการถนอมอาหารพื้นบ้าน และที่มีชื่อเสียงคือขาหมูเชียงดาว
สาขา ศิลปกรรม ดนตรี และนาฏศิลป์ ได้แก่ ค่าวซอ ดนตรีพื้นเมือง และการฟ้อนรำ
สาขาภาษาล้านนา ซึ่งมีผู้รู้ภาษาเขียนล้านนาในพื้นที่ชุมชนคงเหลืออยู่น้อยมาก
8.4 สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก ได้แก่ งานปั้นจิ๋ว แคบหมู


ทรัพยากรธรรมชาติ
9.1 แหล่งน้ำที่สำคัญ 
แม่น้ำปิง มีต้นกำเนิดในพื้นที่ทิวเขาผีปันน้ำตะวันตก (ดอยเชียงดาว) ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว ไหลผ่านพื้นที่ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลเชียงดาว คิดเป็นความยาวประมาณ 8 กิโลเมตร นอกจากนั้น ยังมีลำห้วยสาขาแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านพื้นที่ชุมชน ได้แก่ ลำห้วยแม่ลุ ลำห้วยแม่กึ๊ด ลำห้วยแม่อีด และลำห้วยแม่ก๊ะ
9.2 คุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติ
พื้นที่เทศบาลตำบลเชียงดาว ไม่มีพื้นที่ป่าไม้และภูเขา แต่ระยะเวลาที่ผ่านมามักประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากหมอกควันและไฟป่านอกพื้นที่ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม เป็นประจำทุกปี

จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์

number of website visitors
วันนี้
524
คน
สัปดาห์นี้
2542
คน
เดือนนี้
10994
คน
ปีนี้
12828
คน
ทั้งหมด
12828
คน