ประเพณีปีใหม่เมือง
26 ต.ค. 2567
รายละเอียด:
ประเพณีปีใหม่เมือง เป็นประเพณีที่ปรากฏในเดือนเมษายน หรือเดือน 7 เหนือคนล้านนาถือว่าเป็นการเปลี่ยนศักราชใหม่ การเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนั้นอยู่บนพื้นฐานของ ความเชื่อเรื่องการเปลี่ยนศักราชใหม่ และเป็นโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้มาอยู่รวมกันเพื่อทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ดำหัว เล่นน้ำ และขอพรจากผู้ใหญ่ ซึ่งในส่วนของพื้นที่เทศบาลตำบลเชียงดาวมีกิจกรรมทางประเพณีต่าง ๆ ดังนี้
- วันที่ 12 เมษายน ประเพณีแห่พระ สรงน้ำพระพุทธรูปที่สำคัญของวัดต่าง ๆ ในอำเภอเชียงดาว ขบวนแห่พระจะเคลื่อนไปตามถนนในเขตเทศบาลตำบลเชียงดาว ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ได้สรงน้ำพระพุทธรูป และขบวนจะไปสิ้นสุดที่วัดอินทาราม นอกจากนั้นประชาชนและนักท่องเที่ยวจะได้ชมการแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้านของชุมชนต่าง ๆ ในเขตเทศบาล พร้อมรับพรเนื่องในโอกาสปี่ใหม่เมืองจากเจ้าคณะอำเภอเชียงดาว
- วันที่ 13 เมษายน วันสังขานต์ล่อง การนำ "ต้นสังขาร" ลอยน้ำเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ วันสังขานต์ล่อง ปัจจุบันถือเอาวันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็นวันสังขานต์ล่อง เป็นวันแรกของกิจกรรมประเพณีปีใหม่เมือง หลังเที่ยงคืนวันที่ 13 เมษายน จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร (จะถือเอาตามเวลาสังขานต์ล่องตามที่บอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมืองในปีนั้น เช่นบอกว่าสังขานต์จะล่องเมื่อ 3 นาฬิกา 30 นาที 26 วินาที ชาวบ้านก็จะจุดปะทัดเวลานั้นถือว่าไล่สังขานต์) วันนี้สมาชิกในครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านเรือน ทั้งบนเรือนและใต้ถุนบ้าน การทำความสะอาดเจ้าที่ ศาลพระภูมิ
- วันที่ 14 เมษายน วันเน่าหรือวันเนาว์ เป็นวันที่สองของประเพณีปีใหม่เมือง ตามประเพณีแล้ววันนี้เป็น "วันดา" คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น และตลอดทั้งวัน เด็ก ๆ บ่าว สาว ผู้เฒ่าผู้แก่ จะพากันไปขนทรายที่แม่น้ำเข้าวัด เพื่อก่อเป็นเจดีย์ทราย คนล้านนามีความเชื่อเรื่อง วันเน่าว่า ถ้าหากผู้ประสงค์จะปลูกเรือนไม้ ให้รีบตัดไม้ภายในวันนี้ เพราะเชื่อว่าไม้จะไม่เน่าและไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ดังกล่าว ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับวันเน่า ไม่ควรด่าทอ เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี เชื่อว่าถ้าดุด่าลูกหลานเรื่องใด เด็กจะนิสัยแบบนั้นไปตลอดทั้งปี และในวันนี้จะเป็นวันเตรียมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับประเพณี เช่นของดำหัว เครื่องทำขึ้นต้าวตังสี่เป็นต้น
- วันที่ 15 เมษายน วันพญาวัน วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศส่วนกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ตานขันข้าว” หลังจากนั้นนำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย และคนเฒ่าคนแก่ก็อยู่ร่วมพิธีเวนทานเจดีย์ทราย ถวายช่อตุงปีใหม่ และฟังเทศนาธรรมอานิสงส์ปีใหม่ ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่า คนแก่ พ่อแม่ ครู
- วันที่ 16 เมษายน วันปากปี วันที่สี่ของประเพณีปีใหม่ จัดว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในเทศกาลปีใหม่เมือง ถือเป็นวันแรกของปี วันนี้คนล้านนาจะมารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน บางแห่งอาจจะต่อด้วยพิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระมหาเถระตามวัดต่าง ๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว ความเชื่อของคนล้านนาและชาวเชียงดาวจะนิยมกินแกงขนุนในวันปากปี เพื่อให้เกื้อหนุนชีวิตให้มีความเจริญก้าวหน้า
รูปภาพ
ไฟล์เอกสาร